อื่นๆ

ปีงบประมาณ พ.ศ. 2547-2560

คำถาม-คำตอบ ราคามาตรฐานงบประมาณ

เปลี่ยนการแสดงผล

  1. หน้าหลัก   >  สำนักงบประมาณ   >  โฆษกสำนักงบประมาณ   >  ข่าวสารจากโฆษกสำนักงบประมาณ   >  เรื่อง การตั้งข้อสังเกตร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561   
เรื่อง การตั้งข้อสังเกตร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561
ผู้เข้าชม : 842

ข้าพเจ้า นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา/โฆษกสำนักงบประมาณ สำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี/ ขอรายงานผลการชี้แจงประเด็น การตั้งข้อสังเกตร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561
ผู้ชี้แจง นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ / ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ สำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี

สาระสำคัญ
ตามที่มีข่าวว่า “มาร์ค” อัดรัฐขาดวินัยการเงินการคลัง โอนงบค้างท่อกลับไม่มีใครทำ เว้นสมัยจอมพลถนอม
ที่มา : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ / มติชน / ประชาชาติธุรกิจ เมื่อวันพุธที่ 14 มิถุนายน 2560

สาระสำคัญ : นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกตถึงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ในประเด็นดังนี้
ประเด็นข้อ 1. ภาพรวมของร่าง พ.ร.บ.เป็นการจัดงบประมาณแบบขาดดุล คือรัฐบาลเก็บภาษีได้น้อยกว่าใช้จ่ายเงิน หมายถึงจะต้องมีการกู้เงินเพิ่มสำหรับงบประมาณกลางปีนั้น ซึ่งควรมีคำอธิบายเหตุผลเพิ่มเติม เช่น เกิดภาวะวิกฤตเศรษฐกิจจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ และควรอธิบายด้วยว่าแหล่งเงิน รายได้มีที่มาจากไหน เช่น มาจากการจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น เกินเป้าหมายหรือจะเป็นเพราะว่าจำเป็นต้องกู้ยืมเพิ่มเติม เป็นต้น
ขอเรียนว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2561 แม้ว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2560 โดยปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญ ได้แก่ การขยายตัวการส่งออกสินค้าและบริการตามสภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ความคืบหน้าของการดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐที่คาดว่าจะสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนรวมทั้งการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก ประกอบกับเศรษฐกิจไทยยังจำเป็นต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนจากภาครัฐเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มีการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศสำหรับอนาคต ดังนั้นการกระตุ้นเศรษฐกิจยังคงมีความจำเป็น ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 รัฐบาลจึงได้จัดทำงบประมาณแบบขาดดุล เพื่อให้งบประมาณเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากภาครัฐโดยกำหนดวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณจำนวน 450,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ โดยการขาดดุลงบประมาณจำนวนดังกล่าวยังอยู่ในระดับที่ ไม่ส่งผลกระทบต่อวินัยและฐานะการคลังของประเทศในระยะยาว
สำหรับงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 จำนวน ๕๖,๐๐๐ ล้านบาท มาจากเงินรายได้ที่เพิ่มขึ้นจาก กสทช. และงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 จำนวน ๑๙๐,๐๐๐ ล้านบาท มีแหล่งที่มาของเงินจากการจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น 27,078 ล้านบาท และจากการกู้ยืมเงินจำนวน 162,922 ล้านบาท โดยที่รัฐบาลมีความจําเป็นต้องใช้จ่ายเงินในการดําเนินการตามนโยบายเร่งด่วนที่จะสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจของประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนเข้มแข็ง ส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมศักยภาพ และเพื่อการดำเนินการตามแผนงานบูรณาการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ

ประเด็นข้อ 2. การโอนเงินค่าใช้จ่ายของหน่วยงานต่างๆ ตามงบประมาณที่เหลือเข้ามาเป็น งบส่วนกลางเข้าสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งตามหลักการปกติสภาจะต้องเป็นผู้พิจารณา จึงเหมือนกับเป็นการนำเงินไปเพิ่มเติมให้นายกฯ และ ครม.ที่จะอนุมัติ ทั้งนี้ ส่วนใหญ่งบกลางจะเป็นงบฉุกเฉินสำรองสำหรับเหตุการณ์ที่ไม่สามารถจะจัดตามงบประมาณปกติได้ ซึ่งควรชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบว่าจะนำเงินไปใช้อย่างไรบ้าง
ขอเรียนว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะให้การใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจจึงได้กำหนดมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2560 โดยกำหนดให้รายการในลักษณะงบลงทุน ยกเว้นรายจ่ายลงทุนบางประเภท จะต้องลงนามจัดซื้อจัดจ้างภายในวันที่ 31 มีนาคม 2560 หากส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจใด ไม่สามารถลงนามจัดซื้อจัดจ้างได้ทันที่กำหนดเวลาดังกล่าวไว้ ก็จะดำเนินการจัดทำร่าง พ.ร.บ. โอนงบประมาณ พ.ศ. 2560 เพื่อโอนงบประมาณดังกล่าว นำมากำหนดเป็นงบประมาณรายจ่ายฯ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นโดยมิได้จัดสรรงบประมาณให้กับส่วนราชการใด เนื่องจากมิได้มีคำขอรับการจัดสรรงบประมาณจากส่วนราชการ อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้เสนอ ร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ให้ฝ่ายนิติบัญญัติพิจารณา เช่นเดียวกับการเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี สำหรับการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายฯ งบกลางรายการนี้ ส่วนราชการจะต้องปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2560 ด้วย

วันที่ประกาศ : 15 มิ.ย. 2560 | 00:00 น.
วันที่แก้ไขล่าสุด : 25 ต.ค. 2560 | 15:13 น.
0 Shares