อื่นๆ

คำถาม-คำตอบ ราคามาตรฐานงบประมาณ

เปลี่ยนการแสดงผล

  1. หน้าหลัก   >  สำนักงบประมาณ   >  โฆษกสำนักงบประมาณ   >  ข่าวสารจากโฆษกสำนักงบประมาณ   >  เรื่อง การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี  
เรื่อง การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี
ผู้เข้าชม : 2049

ประเด็นชี้แจง : การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันเสาร์ที่ 2 กันยายน 2560 คอลัมน์สำนักข่าวหัวเขียว โดยแม่ลูกจันทร์
ข้าพเจ้า นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา/ โฆษกสำนักงบประมาณ สำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี/ ขอรายงานผลการชี้แจงประเด็น “การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี”
ผู้ชี้แจง นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ / ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ สำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี

สาระสำคัญ
ตามที่มีหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันเสาร์ที่ 2 กันยายน 2560 คอลัมน์สำนักข่าวหัวเขียว โดยแม่ลูกจันทร์ มีประเด็นด้านเศรษฐกิจ ดังนี้
1)   พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 มีวงเงินสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย
2)   รัฐบาลชุดปัจจุบัน มีการจัดทำงบประมาณขาดดุลทุกปีตลอด 4 ปี (2558 – 2561) ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลมีรายได้ไม่เพียงพอต่องบประมาณรายจ่าย สะท้อนถึงเศรษฐกิจในภาคประชาชนที่ทำให้เกิดปัญหาหนี้สินครัวเรือน
3)   สาเหตุใดประเทศไทยจึงไม่ตั้งเวลาการนับปีงบประมาณให้เป็นไปตามหลักสากล คือวันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม

ขอเรียนชี้แจงดังนี้
1)   งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 (รวมงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม) มีวงเงินทั้งสิ้น 2,923,000 ล้านบาท ซึ่งจะสูงกว่างบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดไว้เป็นจำนวน 2,900,000 ล้านบาท หรือลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 จำนวน 23,000 ล้านบาท คิดเป็นลดลงร้อยละ 0.8 โดยวงเงินงบประมาณดังกล่าวคิดเป็นร้อยละ 18 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เทียบกับร้อยละ 19.2 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2560
ในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 สำนักงบประมาณ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการประชุมร่วมกันเพื่อกำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยได้พิจารณาสมมติฐานทางเศรษฐกิจมหภาค ประมาณการรายได้และภาระหนี้ เพื่อกำหนดนโยบายงบประมาณว่าควรเป็นนโยบายงบประมาณขาดดุล สมดุล หรือเกินดุล ตามความจำเป็นของการใช้งบประมาณเป็นกลไกในการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งความเสี่ยงต่อความยั่งยืนทางการคลัง หรือภาวะที่ระดับการขาดดุลที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อภาวะการลงทุนของภาคเอกชนไว้ด้วยแล้ว

2)  ในช่วงการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ผ่านมา ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 – 2561 รัฐบาลมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุล โดยตระหนักถึงกรอบการรักษาวินัยทางการเงินการคลัง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
2.1)  ความจำเป็นในการใช้จ่ายภาครัฐ ในช่วงเวลาดังกล่าว เศรษฐกิจไทยประสบกับภาวะชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อกระตุ้นการลงทุนและการจ้างงาน ให้เศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนและขยายตัวต่อไปได้ ประกอบกับรัฐบาลมีความจำเป็นต้องลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคเอกชนได้มีการต่อยอดการลงทุนจากภาครัฐ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลพยายามควบคุมรายจ่ายประจำ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกำหนดสัดส่วนรายจ่ายลงทุนเพิ่มขึ้นเพื่อให้มีการลงทุนอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง
2.2)  การจัดเก็บรายได้รัฐบาลที่เพิ่มขึ้นได้ไม่มาก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับรัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้มาตรการทางภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว รัฐบาลจึงไม่สามารถดำเนินมาตรการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ประชาชนได้
ถึงแม้ในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 – 2560 รัฐบาลยังคงจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เฉลี่ยที่ร้อยละ 43.5 ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลัง (ระดับหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ไม่เกินร้อยละ 60) และยังอยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อวินัยและฐานะการคลังของประเทศในระยะยาว

3)   การกำหนดปีงบประมาณเป็นช่วงเวลาใดนั้น เป็นเรื่องที่แต่ละประเทศจะพิจารณาตามความเหมาะสม ไม่มีหลักเกณฑ์ตายตัว เช่น ปีงบประมาณของสาธารณรัฐประชาชนจีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย เยอรมนี เริ่มต้นวันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคมของปีถัดไป สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น เริ่มต้นวันที่ 1 เมษายน – 30 มีนาคมของปีถัดไป สหรัฐอเมริกาเริ่มต้นวันที่ 1 ตุลาคม – 30 กันยายนของปีถัดไป ประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เริ่มต้นวันที่ 1 กรกฎาคม – 30 มิถุนายนของปีถัดไป เป็นต้น สำหรับการกำหนดปีงบประมาณของไทยเป็นระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม ถึง 30 กันยายนของปีถัดไปนั้น ได้พิจารณาถึงความเหมาะสมและสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องเป็นสำคัญ อาทิ ฤดูกาล ช่วงเวลาการจัดเก็บรายได้ที่จะสอดคล้องกับการใช้จ่ายเงินงบประมาณ เป็นต้น

วันที่ประกาศ : 05 ก.ย. 2560 | 00:00 น.
0 Shares